ประเพณีถือศีลกินผัก ปี 2554

ประเพณีถือศีลกินผัก หรือ เทศกาลกินเจ ปีนี้เริ่มต้นวันที่ 27 กันยายน – 5 ตุลาคม 2554 ตรงกับ วันขึ้น 1 – 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน

ซินแส.com ขอเชิญชวนท่านร่วมถือศีล 8 และทานเจในช่วงเทศกาล 9 วัน 9 คืน เพื่อเสริมสุขภาพและบารมีครับ

การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วยสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้

1. งดเว้นเนื้อสัตว์หรือทำอันตรายต่อสัตว์
2. งดนม เนย และน้ำมันที่มาจากสัตว์
3. งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก
4. งดผักหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ สิ่งเสพติดและของมึนเมาต่าง ๆ
5. รักษาศีล
6. รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์
7. ทำบุญทำทาน
8. นุ่งขาวห่มขาว

สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ

ประโยชน์การกินอาหารเจ

1. ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกได้หมดทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักและผลไม้จะช่วยให้ระบบขับถ่ายและการย่อยเป็นปกติ

2. เมื่อรับประทานเป็นประจำโลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลงทำให้อายุยืนยาวมีผิวพรรณสดชื่นผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใสไม่พร่ามัวร่างกายแข็งแรงรู้สึกเบาสบายไม่อึดอัด มีสุขภาพพลานามัยดี

3. อวัยวะหลักสำคัญภายใน ได้แก่ หัวใจ ไต ม้าม ตับ ปอด และอวัยวะประกอบคือ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ กระเพาอาหาร ถุงน้ำดี แข็งแรงทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์

4. ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่างๆ ได้แก่
4.1 สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง สารดีดีที
4.2 มลภาวะและก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม ไอเสียจากเครื่องจักร เครื่องยนต์ซึ่งแพร่กระจายปะปนไปในอากาศที่เราหายใจอยู่เป็นประจำและยังพบว่ามีปะปนอยู่ในแหล่งน้ำดื่มด้วย
4.3 กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และในการทำสงคราม สารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายสามารถทนต่อการทำลายจากรังสีต่างๆ

5. ร่างกายสามารถต้านทานต่อสารพิษต่าง ๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดาสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในบรรดาผู้ที่กินอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฏโดยเฉพาะโรคที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดตีบ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคไต ไขข้ออักเสบ โรคเก๊าส์ โรคเบาหวาน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่าย ย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร มะเร็งในกระเพาะและลำไส้ โรคกระเพาะ อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบเลยในกลุ่มคนผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักและผลไม้เป็นประจำ

อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ชนิด ได้แก่

1. กระเทียม หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม
2. หัวหอม หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่
3. หลักเกียว คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า
4. กุ้ยฉ่าย ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า
5. ใบยาสูบ บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา

ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีล

วิธีการอาราธนาศีล 8 ด้วยตัวเอง (ก่อนสวดมนต์บทอื่น ๆ)

บทบูชาพระรัตนตรัย

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ

อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อะภิปูชะยามิ

อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อะภิปูชะยามิ

ข้าพเจ้า ขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้ฯ

ข้าพเจ้า ขอบูชาพระธรรม ด้วยเครื่องสักการะนี้ฯ

ข้าพเจ้า ขอบูชาพระสงฆ์ ด้วยเครื่องสักการะนี้ฯ

บทกราบพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,

พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง,

พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ.

ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน. (กราบ)

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว,

ธัมมัง นะมัสสามิ.

ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม. (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว,

สังฆัง นะมามิ.

ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์. (กราบ)

คำอารธนาศีล 8

อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ

ข้าพเจ้าขอสมาทานศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป ต่อคุณพระศรีรัตนตรัย

ทุติยัมปิ อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ

แม้ครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าขอสมาทานศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป ต่อคุณพระศรีรัตนตรัย

ตะติยัมปิ อะหัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ อัฏฐะ สีลานิ ยาจามิ

แม้ครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าขอสมาทานศีล 8 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป ต่อคุณพระศรีรัตนตรัย

บทนมัสการพระพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต,

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

อะระหะโต,

ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทธัสสะ.

ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

(สวด 3 จบ)

ไตรสรณคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ,

ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ,

ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ,

ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้า เป็นสรณะ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรม เป็นสรณะ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ,

แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์ เป็นสรณะ

คำสมาทานศีล 8

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดยเด็ดขาด

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ ของดเว้นจากการลักทรัพย์ โดยเด็ดขาด

อะพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากอสัทธรรม กรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ ของดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ โดยเด็ดขาด

สุราเมรยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ ของดเว้นจากการกินเครื่องดองและของเมา โดยเด็ดขาด

วิกาละโภชนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนา มาลาคันธะ วิเลปะนะ ธาระณะ มัณฑะนะ วิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากพูด ฟัง ฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม ผัดผิวให้งามต่างๆ

อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากนั่ง นอน เหนือเตียง ตั่ง มีเท้าสูงเกินประมาณ และที่นั่ง ที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในใส่นุ่นและสำลี อาสนะอันวิจิตรไปด้วยลวดลายงามด้วยเงินทองต่าง ๆ

อิมานิ อัฏฐะ สิกขาปะทานิ สะมาทิยามิ

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทแปดประการเหล่านี้

(สวด 3 จบ)

คำลาบวช

อัฏฐะ สิกขัง ปัจจักขามิ

ทุติ อัฏฐะ สิกขัง ปัจจักขามิ

ตติ อัฏฐะ สิกขัง ปัจจักขามิ

ข้าพเจ้าขอลาพักจากการรักษาศีล ๘ เพื่อรักษาศีล ๕