คนจีนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบการค้ามีความเชื่อว่า ทุกวันตรุษจีน (ชิวอิก) หรือวันปีใหม่ของจีนในระบบจันทรคติ “ไฉ่ซิ้งเอี้ย” หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภของจีน จะเสด็จมาประทานพร นำความรุ่งเรืองมาสู่บุคคลที่กราบไหว้ท่าน
การดูฤกษ์ไหว้สำคัญที่สุดคือการไหว้ครั้งแรกสุดของบ้านแต่ละหลัง ต้องเป็นฤกษ์ที่ถูกต้องปลอดภัยไม่เป็นทิศให้โทษของบ้านและทิศที่ไหว้ ไม่ปะทะ (ชง) กับปีเกิดเจ้าบ้าน สำหรับปีถัดๆ มา หากดูวันไหว้แล้ว ปรากฏว่าเสด็จมาทางทิศเดิมไม่จำเป็นต้องดูยาม (เวลา) ที่ไหว้อีก เพราะถือเป็นเรื่องต่อเนื่อง แต่หากไหว้ทิศอื่นต้องดูฤกษ์ใหม่ครับ
การจัดเตรียมไหว้
1. ก่อนถึงฤกษ์ ให้ตั้งโต๊ะหน้าบ้านหันหน้าไปทางทิศที่เทพเจ้าแห่งโชคลาภจะเสด็จมาของแต่ละปี
2. จัดเตรียมของไหว้
ชุดพื้นฐาน
2.1 เทียนแดงก้านไม้ 1 คู่ – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.2 กิมฮวย (เพื่อความเป็นสิริมงคล) – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.3 กระถางธูป 1 ใบ (ข้าวสาวใส่แก้วปักด้วย กิมฮวย) – หลังจากไหว้เสร็จข้าวสารเอาใส่โอ่งไว้รับประทานภายหลัง ส่วนแก้วเก็บไว้ใช้ปีต่อๆ ไป
2.4 ธูป 3 ดอก ต่อคน – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.5 แจกันดอกไม้สด 1 คู่ (ถวายดอกไม้ให้เทพเจ้า)
2.6 น้ำชา 3 ถ้วย หรือ 5 ถ้วย (โดยหลักวิชา การไหว้เทพเจ้าจะไหว้ 3 ถ้วย การไหว้ฟ้าดินจะไหว้ 5 ถ้วย แต่เนื่องจากประเพณีบางแห่งจะไหว้ 5 ถ้วย ในกรณีนี้จำนวนถ้วยไม่เกิดผลเสียใดๆ)
2.7 น้ำเปล่า 1 แก้ว + ก้านทับทิม (ไว้พรมตัวและบ้าน เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรือง และเป็นสิริมงคล)
รายการเพิ่มเติม
2.8 หงิ่งเตี๋ย (กระดาษเงิน กระดาษทอง 13 ชุดขึ้นไป หรือ 24 ชุด เพื่อให้มีพลังมากกว่า 1 รอบนักษัตร) – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.9 คอซี (แบบร้อยเป็นพวงหรือตั่วกิม) 1 ชุด – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.10 กิมเต้าหงิ่งเต้า 1 คู่ – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.11 เสื้อผ้าเทพเจ้า (ไฉ่ซิ้งเอี้ยเพ้า ถวายเสื้อผ้าเป็นการแสดงความขอบคุณเทพเจ้า) – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.12 เทียงเถ่าจี้ 1 ชุด (ยันต์ต้อนรับเทพเจ้า) – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.13 กระดาษเทียบเชิญสีแดง – เผาเมื่อเสร็จพิธี
2.14 ขนมอี้ (สาคูแดงต้มสุก) 3 ถ้วย หรือ 5 ถ้วย – นำมากินพอเป็นพิธี
2.15 โหงวก้วย (ผลไม้มงคล) 3 อย่าง หรือ 5 อย่าง – นำมากินพอเป็นพิธี
2.16 ขนมจันอับ หรือขนมจับกิ้ม 1 จาน – นำมากินพอเป็นพิธี
2.17 เจฉ่าย 3 อย่าง หรือ 5 อย่าง (เห็ดหอม, เห็ดหูหนู, ฟองเต้าหู้, จำไฉ่ – ดอกไม้จีน, วุ้นเส้น) – เมื่อเสร็จพิธีทั้งหมดนำมาทานได้
2.18 เปี้ยทึ้ง (น้ำตาลกรวด) 1 ถุง – นำมากินพอเป็นพิธี
2.19 จิ๋วเปี้ย (ไว้ใส่ซาลาเปาให้ฟู หาซื้อได้ตามร้านขายยา เพื่อให้มีความหมายเพิ่มพูน เฟื่องฟู) – นำไปไว้ในตู้เซพ
3. จัดโต๊ะ
4. เมื่อได้ฤกษ์ให้ผู้นำพิธีจุดธูปไหว้อัญเชิญเทพเจ้า รับของไหว้ ขอพรตามที่ต้องการ
5. เมื่อไหว้ครบทุกคนให้นำเอาของไหว้ที่เป็นกระดาษไปเผา
6. เมื่อธูปไหม้หมดดอก เก็บโต๊ะ เป็นอันเสร็จพิธี
ฤกษ์สำหรับผู้ที่ไหว้ทุกปี โดยทั่วไปจะนิยมไหว้วันชิวอิก ยามแรก (จื้อซี้)
ฤกษ์สำหรับผู้ที่ไหว้เป็นครั้งแรก (หรือปีที่ผ่านมาไม่ได้ไหว้) ให้ใช้ฤกษ์ปลอดภัย
(จากหนังสือ ปฏิทินฤกษ์มงคล 2552)
💰 ใครมีธุรกิจการค้าหรืออยากจะเป็นเศรษฐีล่ะก็ ห้ามพลาดในการบูชาเทพเจ้าโชคลาภนะครับ…
ว่ากันว่าเพราะไฉ่ซิงเอี้ยไม่มีหัวใจ ท่านจึงไม่มีจิตใจลำเอียง สามารถหว่านโปรยเงินทองโชคลาภให้ทุกคนได้ทั่วถึงเสมอกัน ประมาณว่าใครขอมา ท่านจัดให้!
มีตำนานเล่าว่า ไฉ่ซิงเอี้ยเคยเป็นขุนนางของจักรพรรดิ แต่ฮ่องเต้มัวแต่ลุ่มหลงสนมจนไม่สนใจการงาน ไม่ว่าขุนนางจะเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง
วันหนึ่ง มีคนแก่มาเคาะประตูหน้าบ้านไฉ่ซิงเอี้ย เพื่อมอบยาวิเศษให้ไว้ และหลังจากนั้นไม่นาน สนมคนโปรดของฮ่องเต้ป่วย บอกว่าต้องการหัวใจของไฉ่ซิงเอี้ยมาทำเป็นยารักษาเท่านั้น
ไฉ่ซิงเอี้ยจึงกินยาวิเศษที่ได้รับมาลงไปก่อน แล้วกล่าวเตือนเรื่องราชวงศ์กำลังพินาศแต่จักรพรรดิไม่เชื่อ จากนั้นก็ควักหัวใจออกมอบให้ฮ่องเต้ด้วยตนเอง โดยไม่มีเลือดไหลออกมาเลย