อั่งเปา

“อั่งเปา” เป็นของขวัญในทุกเทศกาล ทุกโอกาส ทุกสถานการณ์ ในงานมงคลแสดงความยินดี และแม้แต่ช่วงชีวิตประสบกับโชคไม่ดี

อังเปายังเป็นเคล็ดที่ให้เพื่อเป็นเครื่องแสดงว่าชีวิตแต่นี้ไปจะได้พ้นจาก ความทุกข์ และพบกับเรื่องอันเป็นมงคล ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง การให้กำลังใจ การปลอบประโลม การแสดงความขอบคุณ การชดเชยการให้รางวัล การช่วยให้พ้นจากเคราะห์กรรม การให้อังเปา เป็นการแสดงน้ำใจที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์นำไปใช้สอยได้อย่างทันท่วงที

อั่ง แปลว่า สีแดง
เปา แปลว่า ซอง ห่อ

อั่งเปา จึงแปลว่า ซองสีแดง แต่ความหมายของอั่งเปาอยู่ที่ของในซองสีแดง ซึ่งหมายถึง เงิน หรือ ธนบัตร หรือ เช็คแลกเงินที่อยู่ในซองนั้นมากกว่า

ซองสีแดงแสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายบางครั้งจะเป็นเลขนำโชค เช่น เลข 8 อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย

ของขวัญ อั่งเปา จึงหมายถึง ห่อหรือซองแดง เหตุผลที่ใช้สีแดงน่าจะสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาและความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณที่ว่าสีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของความเป็นมงคลยินดี

นอกจากนั้น สีแดงยังเป็นสัญญลักษณ์ของพลังอำนาจที่จะขจัดปัดเป่าสิ่งไม่เป็น มงคลทั้งหลายด้วย

ก่อนการใช้อั่งเปาอย่างเป็นรูปแบบนั้น ชาวจีนใช้แถบแดง เป็นตัวแทนแห่งความเป็นมงคลและขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคล

การให้อั่งเปาเป็นสินน้ำใจ ประเพณีจีนโบราณจึงมักให้อั่งเปา เป็นของขวัญ แก่คนรับใช้ที่ญาติมิตรให้นำของขวัญ มามอบให้ เรียกว่า ลี่ หรือ จิ้งเส่อ ซึ่งหมายถึง อาศัยแรงงาน หรือไหว้วานด้วยความนับถือ

อั่งเปา คือ เงินโบนัส ที่เถ้าแก่หรือเจ้าของกิจการมอบให้พนักงานในช่วงเทศกาลตรุษจีน และที่พิเศษคือ ในวันเปิดงานวันแรกของปีหลังวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีน พนักงานจะได้รับอั่งเปาเป็นขวัญ กำลังใจในการเริ่มต้นทำงานในช่วงปีใหม่

อั่งเปา ในงานแต่งงานเป็นของขวัญ ในแทบจะทุกขั้นตอน เงินค่าสินสอดนั้นจะใส่ไว้ในซองหรือ ผ้าสีแดง ขนมไหว้ต่างๆ ย้อมเป็นสีแดง เมื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาวยกน้ำชาคารวะ ญาติก็จะให้ทองหรือซองอั่งเปาเป็น ของขวัญ ในการเริ่มชีวิตคู่

การให้อั่งเปา พ้นจากเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน เทศกาลสำคัญที่สุดในชีวิตของชาวจีนก็มาถึง คือ “วันตรุษจีน”

วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน นอกจากเป็นสัญลักษณ์ถึงการเริ่มต้นชีวิตอีกขวบปีแล้ว ตรุษจีนยังหมายถึงการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิอันสดชื่นงดงาม ความรื่นเริงบันเทิงใจ

“อั่งเปา” ซองแดงบรรจุธนบัตรเป็นของขวัญ ในการเริ่มต้นชีวิตปีใหม่และการพักผ่อนอันเบิกบานติดต่อกันนานหลายๆ วัน โดยหลายบ้านจะถือธรรมเนียมว่าให้กันเฉพาะคนในครอบครัวหรือสกุลเดียวกัน แล้วอาจจะขยายวงไปถึงคนรักใคร่นับถือกันเหมือนญาติ โดยแต่โบราณเรียกเงินนี้ว่า เงินเอี๊ยบส่วยจี๋

เอี๊ยบ แปลว่า กด , อัด , ห้าม
ส่วย แปลว่า อายุ

เอี๊ยบส่วยจี๋ เป็นดั่งหนึ่งเงินมงคลคุ้มครองชะตา ดั้งเดิมนิยมให้กันในวันสิ้นปี ผู้ใหญ่จะเอาเหรียญทองแดง 100 อัน ร้อยด้วยด้ายแดง ผูกเป็นพวงให้เด็กในวันก่อนวันตรุษจีนหรือวันสิ้นปีนั่นเอง เรียกเงินพวกนี้ว่าเอี๊ยบส่วยจี๋ ส่วยที่แปลว่าอายุนี้ พ้องเสียงกับคำว่า ส่วย ที่แปลว่า ผีปีศาจ และคำว่า ซวย เอี๊ยบส่วย หรือ เอี๊ยบซวย จึงแปลว่า ห้ามความซวยหรือผีปีศาจมาสู่ เงินร้อยด้ายแดงทั้งพวง นี้ ดั้งเดิมเด็ก ๆ คงห้อยไว้กับเชือกผูกเอว เกิดคำว่า แต๊ะเอีย แปลว่า ถ่วงเอว

บางบ้านมีการวางส้มสีทองและลิ้นจี่ไว้ที่หมอน แล้วให้เด็กๆ รับประทานก่อนนอนในคืนวันตรุษจีน เรียกผลไม้นี้ว่า เอี๊ยบส่วยก้วย เพื่ออวยพรให้โชคดี ซึ่งคนจีนในไทยไม่ได้นำธรรมเนียมวางเอี๊ยบส่วยก้วย ไว้ที่หมอนให้ลูกหลานทาน แต่จะเป็นการนำส้มสีทองหรือ ไต้กิก 4 ผล ไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่หรือญาติมิตรที่นับถือกันมากกว่า เรียกธรรมเนียมนี้ว่า ไป๊เจีย โดยมีเคล็ดธรรมเนียมว่า เมื่อเรารับส้ม 4 ผล ที่ห่อในผ้าเช็ดหน้า ก็ให้นำมาเปลี่ยน โดยนำส้มของแขกออกมา 2 ใบ แล้วใส่ส้มของเราเข้าไปแทน 2 ใบ ผูกห่อผ้าเช็ดหน้าคืนแขกไป ดังนั้นส้มสีทอง 4 ผลนี้ ก็จะมีส้มของแขก 2 ใบ กับของเราอีก 2 ใบ ถือเป็นการนำโชคดีมามอบให้และแลกเปลี่ยนโชคกันด้วย

ส่วนเงินสิริมงคลนั้น จะมีอีกตำราเรียกว่า เงินเอี่ยมเส่งจี่ หมายถึงเหรียญเงินที่พิชิตความไม่ดี คำเต็มๆ คือ จับยี่แซเสี่ยวเอี่ยมเส่งจี๋ เป็นเงินเหรียญรูป 12 ปีนักษัตร สำหรับเป็นเครื่องรางคุ้มครองทุกดวงชะตาให้สันติสุขปลอดภัย

ต่อมาเงินเอี๊ยบส่วยจี๋ ที่เป็นเหรียญ 100 อันร้อยเชือกแดงก็ดี เป็นเงินเอี่ยมเส่งจี๋ 12 นักษัตรก็ดี ก็พัฒนาเป็นการให้ธนบัตรใหม่ๆ ใส่ซองแดง เรียกว่า เงินอั่งเปา หรือ เงินแต๊ะเอีย สืบมาโดยคำนึงว่าเงินเอี๊ยมส่วยจี๋ได้หายไป หากเคล็ดการให้ก็ยังคงเพื่ออวยพรนั่นเอง เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับว่า อวยพรให้แข็งแรงเติบโตอายุยืน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้เด็กเล็กๆ นี่คือการอวยพรให้เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตแข็งแรง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว ก็เพื่ออวยพรให้เจริญก้าวหน้าสุขภาพแข็งแรง หากเป็นลูกที่ทำงานแล้วให้พ่อแม่ ก็คือเพื่ออวยพรให้ท่านแข็งแรงอายุยืนยาว โดยการที่ลูกให้พ่อแม่ และพ่อแม่ให้ลูกนั้น ต้องเป็นเงินของใครของมัน ไม่ใช่ว่าลูกให้พ่อแม่ เมื่อพ่อแม่รับเงินอั่งเปาจากลูกก็ส่งคืนเงินทั้งซองกลับไป แต่ต่างฝ่ายต่างควรเตรียมเงินของตนไว้ให้เรียบร้อย เมื่อได้รับอั่งเปาเรียบร้อยแล้ว ธรรมเนียมต่อไปคือ การเที่ยวและอยู่พร้อมหน้าครอบครัว