การไหว้สิ้นปี (ก๊วยนี้โจ่ย)

การไหว้วันสิ้นปี หรือ ก๊วยนี้โจ่ย เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสารทที่ 1 กับสารทที่ 8 ถือเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่ง

โดยก่อนเริ่มวันชิวอิก (วันก่อนที่จะเริ่มต้นปีใหม่ของจีน) จะไหว้บรรพบุรุษ ไหว้สัมพเวสีต่างๆ ก่อนวันเทศกาล 1 วัน คือจะไม่ไหว้บรรพบุรุษ สัมพเวสีในวันตรุษจีน (บางแห่งถือว่า ไหว้สารทที่ 7 คือ ไหว้ตังโจ่ย และไหว้สารทที่ 8 คือไหว้วันสิ้นปี)

วันไหว้วันสุดท้ายของเดือน 12 ก่อนเริ่มปีใหม่ของจีน นิยมเรียกวันนี้ว่า วันไหว้ และเรียกวันก่อนหน้าวันไหว้ว่า วันจ่าย เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะจับจ่ายซื้อของไหว้และของใช้ต่างๆ ได้ก่อนที่ร้านค้าจะปิดธุรกิจหลายวัน

เช้าของวันไหว้สิ้นปี จะเริ่มจากไหว้เจ้าตามศักดิ์ฐานะของผู้ถูกไหว้ พอสายหน่อยก็ไหว้บรรพบุรุษ บางบ้านจะมีการไหว้ผีไม่มีญาติ คนจีนมีคำเรียกว่า ไป๊ฮ้อเฮียตี่ แปลว่า ไหว้ที่น้องที่ดี สะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกว่าผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดี การไหว้ผีไม่มีญาติจะต้องไหว้ที่นอกบ้านบริเวณหน้าบ้าน

ตามหลักการไหว้บรรพบุรุษจะตั้งโต๊ะเครื่องบวงสรวงไหว้ในช่วงเช้า โดยเริ่มไหว้จากพระพุทธ ปึงเถ้ากง เทพเจ้าที่ตั้งบูชาในบ้าน ฟ้าดิน เจ้าที่ และบรรพบุรุษ ส่วนการไหว้สัมพเวสีจะไหว้สุดท้าย โดยวางเครื่องบวงสรวงไหว้กับพื้นดิน

การไหว้บรรพบุรษ ใช้ธูปท่านละ 1 ดอกตามจำนวนบรรพบุรุษ บางแห่งถ้าบรรพบุรุษเสียชีวิตมากกว่า 3 ปี ไหว้ด้วยธูป 3 ดอก แต่ถ้าไม่ถึง 3 ปีไหว้ด้วยธูป 1 ดอก ก็ถือว่าถูกต้องทั้งสองแบบ

ส่วนการไหว้สัมพเวสีให้ไหว้ด้วยธูป 10 ดอก ไม่ใช่ 1 ดอกเหมือนทั่วไป เพราะในวันไหว้สิ้นปีกับสารทจีนต้องไหว้สัมพเวสีด้วยธูป 10 ดอก

การไหว้ด้วยข้าวสารและเกลือถือเป็นการขับไล่ให้สิ่งไม่ดีออกไป และใช้นำสะอาดที่ใส่ยอดทับทิมพรมเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ในกรณีการไหว้สิ่งดีๆ จะไม่ไหว้ด้วยข้าวสารและเกลือ (เครื่องบวงสรวงที่ใช้สำหรับไหว้บรรพบุรุษและสัมพเวสี จะใช้คล้ายๆ กัน ต่างกันเพียงไหว้สัมพเวสีจะมีเกลือ ข้าวสาร)

เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ (ตามความเชื่อประเพณีแต่ละท้องถิ่น) เช่น
– โหงวแซ 5 อย่าง คือ หมู เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง
– อาหารคาว 5 อย่าง
– ข้าวสุก 10 ถ้วย
– ขนมหวาน 10 อย่าง เช่น ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา (ซาลาเปาต้องไหว้ เพื่อให้มีเหลือเก็บเหลือใช้)
– ผลไม้ 10 อย่าง
– น้ำชา 10 ถ้วย
– เครื่องบรรณาการต่างๆ
– ดอกไม้ ธูป เทียน

เครื่องเซ่นไหว้สัมพเวสี เช่น
– อาหารคาว 10 อย่าง เช่น กระเพาะหมู หัวใจหมู ดีหมู ปอดหมู ผัดกับพวกเครื่องเทศต่างๆ พร้อมเต้าหู้
– อาหารเจ เช่น เห็ดหูหนู ฟองเต้าหู้ วุ้นเส้น เห็ดหอม
– ข้าวสุก
– ขนมหวาน 10 อย่าง เช่น แป๊ะก๊วย ลูกพรุนแดง ข้าวเหนียวหวาน
– ส่วนผลไม้ให้ไหว้ด้วยส้มขนาดใหญ่ ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง ส้มโอ สาลี่ แอปเปิ้ล องุ่น ลูกพลับ และอื่นๆ
– น้ำ 1 ถังใส่ยอดทับทิม
– ข้าวสาร เกลือ เหรียญเงินเหรียญทอง รวมกัน 1 ถาด
– กระดาษเงินกระดาษทองชุดใหญ่เหมือนตอนสารทจีน
– ดอกไม้ ธูป เทียน

การไหว้ตามเทศกาลประจำปีตามฤดูกาล เป็นการไหว้ตามประเพณีจึงมักไม่ต้องดูฤกษ์ยาม แต่โดยมากจะไหว้ในตอนเช้า

ตัวอย่างของไหว้

ซาลาเปา ที่ใช้ไหว้เจ้ามีสองแบบคือ แบบมีไส้ กับแบบไม่มีไส้ (หมั่นโถว) ส่วนที่มีไส้ก็จะมีไส้หวานกับไส้เค็ม แต่คนส่วนมากนิยมนำหมั่นโถวไปไหว้เจ้ามากกว่า หมั่นโถวมีอยู่สองสีคือ สีขาวและสีเหลือง นิยมแต่งหน้าให้แตกออกเป็นกลีบดอกไม้ หรือเขียนตัวหนังสือจีนสีแดงอ่านว่า ฮก แปลว่า โชคดี แต่ถ้าเป็นลูกเล็กก็แต้มจุดสีแดง นอกจากนี้ยังมี ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาที่มีลักษณะคล้ายลูกท้อ

ขนมฮวกก้วยเป็นขนมถ้วยฟู มีตัวหนังสือจีนเขียนไว้บนขนมว่า ฮวดไช้ และ เฮง มีความหมายว่าโชคดี

ขนมอั่งก๋วยท้อ เป็นขนมรูปร่างคล้ายท้อแบน ๆ สีชมพูสอดไส้เค็ม อาจเป็นไส้กุยช่าย ไส้ผักกะหล่ำ หรือไส้ข้าวก็ได้

โหงวก้วย คือ ผลไม้ห้าอย่างที่ใช้ไหว้เจ้า มักเลือกผลไม้ที่เป็นมงคลเช่น ส้ม องุ่น สาลี่ แอปเปิ้ล ฯลฯ

เนื้อสัตว์ที่นำมาเซ่นไหว้ไม่จำกัดชนิด นิยมจัดเป็นห้าอย่างเรียกว่า โหงวแซ หรือสามอย่างเรียกว่า ซาแซ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้ไหว้

คอซี ตั่วกิม กระดาษที่ใช้สำหรับไหว้เจ้า เช่น คอซี เป็นกระดาษเงินกระดาทองที่ใช้มากที่สุด ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือกระดาษแปะทองคำเปลวแผ่นใหญ่ ส่วนที่ 2 เป็นกระดาษตัดสีแดง แผ่นเล็กกว่าวางซ้อนอยู่ด้านใน ตัวอักษรเป็นทองเปลว อ่านว่า เผ่งอัน แปลว่าโชคดี

กิมเตี๊ยว ลักษณะเป็นแท่งทองทำจากกระดาษ คาดขอบด้วยกระดาษสีแดง

อ้วงแซ่จิ่ว เป็นกระดาษสีเหลืองหลายแผ่นมัดรวมกันอยู่ มีหนังสือจีนเขียนกำกับไว้ เชื่อว่าเป็นใบเบิกทางไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย

จัวเหลี่ยว เป็นเครื่องกระดาษที่ใช้ทั้งในงานกงเต๊ก และเผาให้บรรพบุรุษในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งทำเลียนแบบข้าวของทุกอย่างที่คนปัจจุบันใช้ ไม่ว่าเป็นแบงก์ ตั๋วเครื่องบิน บัตรเครดิต บัตรโทรศัพท์ เช็ค หรือ พาสปอร์ต