ประเพณีไหว้พระจันทร์

ภาษาจีนเรียกวันไหว้พระจันทร์ว่า 月餅節 จงชิว (ตงชิว) ที่มาของคำว่า จงชิว นี้คือเดือนแปดตามปฏิทินจันทรคติ ตกอยู่ช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง (เดือนเจ็ดและเดือนแปดอยู่ในฤดูใบไม้ร่วง หนึ่งฤดูแบ่งเป็น เมิ่งจ้งจี้) ดังนั้นก็เลยเรียกว่า จงชิว ประกอบกับวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนแปดก็ตกอยู่ในช่วงกลางของเวลาที่เรียกว่า จงชิว นี้ จึงเรียกเทศกาลดังกล่าวว่า จงชิว ด้วย

ในคืนวันไหว้พระจันทร์ ดวงจันทร์สว่างและกลมถือว่าสวยที่สุด ผู้คนถือว่าดวงจันทร์ที่กลมเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคี ดังนั้นจึงเรียกเทศกาลนี้ว่า “เทศกาลแห่งความกลมเกลียว”

เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลดี เป็นเทศกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนาน เรื่องดวงจันทร์ของชาวจีนอย่างแนบแน่นเช่นเรื่อง ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงมากวันไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปี เรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า ตงชิวโจ่ย การไหว้พระจันทร์ของคนจีน เป็นที่รู้จักกันดีกว่าเทศกาลไหว้อื่นๆ เพราะมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิม และมีของไหว้ที่เป็นแบบเฉพาะ เช่นมีขนมไหว้พระจันทร์ มีต้นอ้อย โคมไฟ เทศกาลนี้เป็นอุบายในการปลดแอกชาติจีนออกจากการปกครองของพวกมองโกล

วันไหว้พระจันทร์ถือเป็นวันสาร์ท เพราะตรงกับวันกลางเดือนตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ของจีน และถือเป็นวันกลางเดือนของเดือน กลางฤดูใบไม้ร่วง

ด้วยว่าประเทศจีนนั้นแบ่งวันเวลา เป็น 4 ฤดูกาล ฤดูหนึ่งมี 3 ดวง คือ ชุง แห่ ชิว ตัง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูฝน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ตามลำดับ

ขนมที่ทำมาเป็นพิเศษในเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ก็คือ ขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่พิเศษ ไส้หนา มีขนมโก๋เกสีขาว ขนมโก๋สอดไส้ ขนมโก๋สีเหลือง เมื่อไหว้เสร็จก็แบ่งกันรับประทานในครอบครัว

ตำนานประเพณีไหว้พระจันทร์ (เทพธิดาฉางเอ๋อ)

เมื่อ 4000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยราชวงศ์เซี้ยของจีน ท้องฟ้ามีพระอาทิตย์ 10 ดวง ส่องแสงลงมาเผาผลาญโลกมนุษย์จนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ฮ่องเต้ในสมัยนั้นจึงได้ประกาศหาผู้ที่มีความสามารถมาทำลายพระอาทิตย์ เพื่อลดความร้อนและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ทุกข์ยาก

ต่อมามีนักแม่นธนูมือฉมังนายหนึ่ง นามว่า “โฮ้วอี้” ได้มาอาสาสมัครทำงานชิ้นนี้ โฮ้วอี้สามารถยิงดวงอาทิตย์ตกลงมา 9 ดวง เหลือไว้เพียงหนึ่งดวงเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของโลกเหมือนในปัจจุบันนี้ เมื่อโฮ้วอี้ทำการสำเร็จ ฮ่องเต้ก็ปูนบำเหน็ดรางวัลให้โดยแต่งตั้งให้เขาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และสามารถทำอะไรก็ได้เหมือนกับการได้รับดาบอาญาสิทธิ์ พร้อมกันนี้ได้มอบหญิงงามให้เป็นภรรยาหนึ่งคน หญิงงามผู้นี้มีนามว่า “ฉางเอ๋อ”

ครั้นเวลาล่วงผ่านไป โฮ้วอี้ได้รับยาวิเศษจากเจ้าแม่อวงบ้อ ยานี้มีสรรพคุณทำให้อายุยืนยาว และสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ตอนที่ยามาถึงบ้านโฮ้วอี้ไม่อยู่ นางฉางเอ๋อผู้เป็นภรรยาได้รับยานี้ไว้ และนางคิดว่าถ้าให้โฮ้วอี้กินยาวิเศษนี้แล้วทำให้อายุยืนก็จะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากตั้งแต่โฮ้วอี้ได้รับสิทธิพิเศษจากฮ่องเต้แล้วเมื่อมีผู้ใดขัดใจก็จะฆ่าทิ้ง ด้วยความกลัวว่าผู้คนจะตายกันมากขึ้น นางฉางเอ๋อจึงตัดสินใจกินยาเสียเอง

เมื่อกินยาแล้วก็กลัวสามีจะรู้และฆ่านาง นางจึงวิ่งหนีไป ขณะวิ่งไปนั้นยาวิเศษออกฤทธิ์ทำให้นางเหาะได้ นางฉางเอ๋อจึงเหาะหนีไปอยู่บนดวงจันทร์

ชาวบ้านที่เห็นนางเหาะไปอยู่บนดวงจันทร์กลัวนางจะอดอยาก และด้วยความระลึกถึงความดีของนางจึงจัดของเซ่นไหว้

นับตั้งแต่นั้นมาก็มีการไหว้พระจันทร์เป็นประจำทุกปีในคืนวันเพ็ญเดือนแปดของจีน หรือ วันสาร์ทตงชิว เพื่อเซ่นไหว้เทพธิดาฉางเอ๋อ เพื่อให้ประทานความสุขความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารแก่มวลมนุษย์

สำหรับโต๊ะไหว้พระจันทร์นั้นคนจีนมักจะใช้โต๊ะกลม ขนมเปี๊ยะหรือของที่ตั้งไหว้มักจะเป็นรูปทรงกลม

เชื่อกันว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ ความกลมเกลียว ดอกไม้ ดอกเบญจมาศ สองประกายสีเหลืองอร่ามและเป็นดอกไม้ตามฤดูกาลของจีน โต๊ะแต่ละโต๊ะมีต้นอ้อย 2 ต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองและความหวาน ส่วนโคมไฟให้แสงสว่าง ที่ขาดไม่ได้คือ เครื่องสำอาง

สำหรับเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ “ฉางเอ๋อ” ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเทพธิดาฉางเอ๋อยังสถิตย์อยู่บนดวงจันทร์ แม้นมนุษย์จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์แล้วก็ตามไม่ได้ทำความเชื่อนั้นเลือนหายไป