เตรียมของไหว้พระจันทร์

การไหว้พระจันทร์จะอยู่ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 จีน ชาวจีนโบราณเชื่อว่าสรรพสิ่งบนโลกนี้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ หยินกับหยาง โดยถือเอาพระอาทิตย์เป็นตัวแทนของเทพฝ่ายหยาง และถือเอาพระจันทร์เป็นตัวแทนของเทพฝ่ายหยิน

ในสมัยโบราณจักรพรรดิจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้พระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ และบวงสรวงพระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง

คืนที่พระจันทร์เต็มดวงช่วงกลางฤดู ประเพณีไหว้พระจันทร์จึงเป็นพิธีที่เอิกเกริกยิ่งใหญ่พิธีหนึ่ง ซึ่งเราจะสังเกตุได้จากโบราณสถานที่เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีในสมัยโบราณ เช่น หอบูชาพระจันทร์ในปักกิ่ง ซึ่งก่อสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง

พิธีไหว้ในวันไหว้พระจันทร์

1. ไหว้เจ้าในช่วงเช้า จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่างๆ

2. ไหว้บรรพบุรุษ จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่างๆ

3. ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ จำนวนธูปไหว้ 3 ดอก หรือ 5 ดอก

พิธีไหว้พระจันทร์จะไหว้กลางแจ้งหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ

การตั้งโต๊ะจะจัดให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง

สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้าน ดาดฟ้า หรือหน้าบ้านก็ได้ครับ

เครื่องบวงสรวงที่ใช้จะไหว้ด้วยของเจเหมือนไหว้เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งไหว้พระจันทร์เพื่อให้มีคู่ คนจีนจะถวายอาหารเป็นเลขคู่ แต่บางคนอาจถวายอย่างละ 5 ก็ได้

ของไหว้ควรเป็นของแห้ง เพราะการไหว้พระจันทร์จะทำพิธีในตอนกลางคืน หากไหว้ด้วยของสดอาจเน่าเสียได้ง่าย

ของไหว้ประกอบไปด้วย

– น้ำชาหรือใบชา 4 ถ้วย
– อาหารเจ 4 อย่าง เช่น วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
– ขนมหวาน 4 อย่าง เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี้ยะ สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว
– ผลไม้ 4 อย่าง ไม่ควรเป็นผลไม้ที่มียาง มีหนาม เช่น กล้วยหอม แอปเปิ้ล องุ่น สาลี่ เพิ่มพิเศษคือส้มโอ
– ดอกไม้สด 1 คู่ ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก เทียน 1 คู่ และกระถางธูป
– ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง
– โคมไฟ เพื่อให้มีชีวิตที่สว่างไสว
– อ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
– กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง เช่น ค้อซี, กอจี๊, เนี้ยเก็ง, โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย (คือ กระดาษ เงินกระดาษทองลายโป๊ยเซียน), กระดาษเงินกระดาษทองแบบจัดทำพิเศษสวยงาม (เช่น กิมก่อง คือ โคมคู่, สัปปะรด, อ้วงมึ้ง หรือผ้าม่าน), เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์

เริ่มจากการตั้งโต๊ะ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นอ้อยผูกโคมไฟไว้กับต้นอ้อยให้สวยงาม วางกระถางธูป เทียนไว้ด้านหน้าสุด ดอกไม้วางไว้สองข้าง (หากมีเจดีย์น้ำตาลวางไว้สองข้างถัดจากขนม ใต้เจดีย์อาจนำคำกลอนในกระดาษแดงมาวางก็ได้) ผลไม้จัดตามความสวยงาม ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ที่จัดเรียงเป็นชั้น วางขนมโก๋ และขนมหวานต่างๆ รอบโต๊ะวางประดับประดาด้วยกระดาษลวดลายที่มี

อย่างไรก็ดีการจัดตั้งโต๊ะนั้นไม่ตายตัวเสมอไป แล้วแต่ใครมีวิธีการที่ต่างกันไปเน้นความสวยงามเป็นหลัก ดังนั้น ใครคิดว่าจัดอย่างไรจึงสวยที่สุดก็ให้จะจัดกันตามนั้นครับ

ในปีนี้วันไหว้พระจันทร์ตรงกับวันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2554 (วันที่ 15 เดือน 8 ของจีน)