เทศกาลไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์ของคนจีนเป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี

วันไหว้พระจันทร์มีความเกี่ยวข้องกับปฏิทินจันทรคติ ถ้าคิดตามวันจีนจะเป็นเดือน 8 วันที่ 15 (เดือนกันยายน หรือ ตุลาคม) เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปีเรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า “ตงชิวโจ่ย”

เทศกาลนี้จัดขึ้นกลางฤดูใบไม้ร่วง (จึงเรียกว่า ตงชิว, Zhong Qiu แปลว่า กลางฤดูใบไม้ร่วง) เพื่อระลึกถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ หรือเจ้าแม่พระจันทร์เซี่ยงง้อ จีนกลางเรียกว่า ฉางเอ๋อ ซึ่งเชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นในวันนี้

ในวันดังกล่าว เราจะสามารถมองเห็นพระจันทร์ได้เต็มดวงใหญ่ที่สุด กลมที่สุด และสว่างที่สุด

กำเนิดของการไหว้พระจันทร์มีหลายตำนาน ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ยังคงไม่เป็นที่ปรากฎแน่ชัด แต่ที่มาของประเพณีการไหว้เป็นเรื่องจริงที่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติจีน ที่คนจีนสร้างเทศกาลนี้ขึ้นมา เป็นอุบายในการปฏิวัติและปลดแอดชาติจีนออกจากการปกครองของพวกมองโกลที่เรืองอำนาจและยึดครองจีนได้

มีผู้คิดให้จัดงานไหว้พระจันทร์ขึ้นมา ทำขนมไหว้พระจันทร์ที่จงใจออกแบบให้เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ซ่อนเอกสารในการติดต่อ แล้วให้มีธรรมเนียมแลกขนมเปี๊ยะกันระหว่างญาติมิตร เป็นการตบตาพวกมองโกลได้อย่างแนบเนียน

ภายในสารระบุเวลากำจัดคนมองโกลว่า เที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นคืนที่กำหนดให้มีงานไหว้พระจันทร์ ในคืนนั้นให้ทุกบ้านพร้อมใจกันจัดงานไหว้พระจันทร์ประดับโต๊ะไหว้ให้สวยงาม มีของไหว้ต่างๆ นานาพร้อมของสวยงาม พอเที่ยงคืนก็มีการตีเกราะเคาะไม้ส่งสัญญาณแก่กันว่าได้เวลาแล้ว ทุกครอบครัวก็พร้อมใจกันรุมฆ่าคนมองโกลด้วยมีดหั่นผักที่มีอยู่เล่มเดียวนั่นเอง

เมื่อได้เอกราชคืนมาชาวจีนจึงยึดเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบต่อกันมา เพื่อระลึกถึงการกู้ชาติจากพวกมองโกล

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ยังเป็นที่นิยมไหว้กันอยู่

พอตกเย็นของคืนวันเพ็ญเดือน 8 ชาวจีนในไทยจะเริ่มตั้งโต๊ะไหว้ที่กลางแจ้ง เอาต้นอ้อย 2 ต้นมาทำซุ้มประตู บนโต๊ะมีตั้งอาหารเจ ขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์ ขนมโก๋ไหว้พระจันทร์ ของใช้สำหรับผู้หญิง เช่น แป้งผัดหน้า สบู่ แชมพู ผ้าเช็ดหน้า และใช้ของไหว้ที่สวยงาม กระทั่งธูปเทียนและกระดาษเงินกระดาษทองก็จะตกแต่งให้สวยเป็นพิเศษ มีการจัดแจกันดอกไม้สดมาไหว้

อีกตำนานหนึ่งถือว่าวันไหว้พระจันทร์ถือเป็นวันสารท ตรงกับวันที่ 15 เดือน 8 ของจีน เป็นวันกลางเดือนของเดือนกลางฤดูใบไม้ร่วง ด้วยประเทศจีนนั้นแบ่งวันเวลาเป็น 4 ฤดูกาล ฤดูหนึ่งมี 3 เดือน เริ่มจาก ชุง แห่ ชิว ตัง

ชุง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับเดือนที่ 1, 2, 3 ของปี

แห่ คือ ฤดูร้อน เดือน 4, 5, 6

ชิว คือ ฤดูใบไม้ร่วง เดือน 7, 8, 9

ตัง คือ ฤดูหนาว 10, 11, 12

มีเรื่องเล่าสีบกันมาว่า ในสมัยโบราณจักรพรรดิจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้พระอาทิตย์ในฤดูใบไม้ผลิ และจะไหว้บวงสรวงพระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วง คืนวันที่พระจันทร์เต็มดวงช่วงกลางฤดู ต่อมาประชาราษฎรก็ถือเป็นธรรมเนียมไหว้ตาม

การไหว้มีการจัดทำขนมไหว้เป็นพิเศษ เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนา มีขนมโก๋สีขาว ขนมโก๋สอดไส้ ขนมโก๋สีเหลือง เมื่อไหว้เสร็จก็แบ่งกันรับประทานในครอบครัว

ต่อมาจึงมีการกลายธรรมเนียมไปตามกาลเวลา ที่ถือเป็นงานไหว้ของผู้หญิงในบ้าน การไหว้พระจันทร์เกิดการผสมผสานว่า ไหว้เจ้าแม่กวนอิมเข้าไปด้วย ทุกวันนี้คนจีนส่วนหนึ่งในไทยจึงไหว้พระจันทร์ด้วยอาหารเจ และระวังว่าขนมไหว้พระจันทร์ที่ไหว้เจ้าแม่จะต้องไม่มีไข่แดง และมันหมูหรือของคาวใด ๆ โดยเป็นอาหารเจแห้ง เช่น วุ้นเส้นแห้ง เห็ดหูหนูแห้ง เห็ดหอมแห้ง ฟองเต้าหู้แห้ง ไหว้เครื่องประดับของใช้ของผู้หญิง พร้อมกับกระดาษเงินกระดาษทองที่ล้วนมีสัญลักษณ์เจ้าแม่กวนอิม

ขนมไหว้พระจันทร์ของจีนแต่เดิมนั้นมี ส่วนประกอบ เช่น ถั่วแดง ลูกนัทจีน 5 ชนิด และเมล็ดบัว เป็นต้น

ในประเทศไทยก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างออกไป เช่น การรวมเอาทุเรียน ลูกเกาลัดและลูกพลับเข้าไว้ด้วย เครื่องปรุงที่เพิ่มเข้ามาก็อาจจะรวมเอาเมล็ดบัว ไข่แดงเค็ม และเมล็ดแตงโมด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า โดยปกติแล้วพิธีนี้จะให้สตรีเป็นผู้ทำเพราะว่าคนเชื่อกันว่าพระจันทร์มีส่วน เกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับเทพเจ้าสตรีเรื่อยมา ดังนั้นจึงมีการบูชาด้วยแป้งและเครื่องสำอางด้วยเพราะหวังว่าการทำเช่นนี้ จะนำมาซึ่งความสวยงามและผิวงามแก่สมาชิกในครอบครัว