การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ลูกหลานชาวจีนปฏิบัติสืบทอดกันมาตามความเชื่อ เพื่อให้เป็นสิริมงคล และนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ครอบครัว
เริ่มแรกการไหว้เจ้าของจีนโบราณจะยึดตามฤดูกาล ทำให้เทศกาลการไหว้ถูกกำหนดให้เป็นไปตามฤดูกาลทั้งหมด ส่งผลให้ปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้าอย่างน้อย 24 ครั้ง ซึ่งลักษณะของการไหว้จะเป็นแบบปกติ คือ จะไหว้เจ้าตามวันพระจีน
วันพระจีนจะมีทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง โดยการไหว้เจ้าในวันพระจีน จะไหว้ในวันขึ้น 1 ค่ำ และขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนตามปฏิทินทางจันทรคติ (ปฏิทินจีน) หมายความว่า 1 เดือนมี 30 วัน จะมีการไหว้เจ้า 15 วันหนึ่งครั้ง เท่ากับเดือนหนึ่งไหว้ 2 ครั้ง และเมื่อนับเป็นปี 1 ปี มี 12 เดือน ก็จะมีการไหว้เจ้าตามวันพระจีนทั้งหมด 24 ครั้งอันเกี่ยวเนื่องไปถึงฤดูกาลที่คนจีนโบราณต้องอาศัยธรรมชาติตลอดทั้งปี จึงต้องมีการไหว้เจ้าในทุกเดือน เพื่อให้ธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง หรือที่คนจีนเรียกว่าวัน ชิวอิก จับโหงว
การไหว้ในวันพระจีนนี้ จะเริ่มต้นไหว้จากพระพุทธ พระโพธิสัตว์ เทพเจ้าต่างๆ และสุดท้ายจึงไหว้เจ้าที่ ส่วนใหญ่ในวันพระจีน บางคนก็จะกินเจตอนเช้า บางคนก็กินทั้งวัน หรือไม่กินแล้วแต่ความสะดวก จะไหว้เจ้าในบ้านหรือบางคนจะไปไหว้และสวดมนต์ตามโรงเจด้วย
สำหรับเครื่องเซ่นไหว้ในวันพระจีน ไม่จำเป็นต้องใช้ชุดใหญ่ เพียงไหว้ด้วยน้ำชากับผลไม้ 3 อย่าง หรือ 5 อย่างก็ได้ สำหรับน้ำชา ถ้าไหว้ปึงเถ้ากงต้องไหว้ 3 ถ้วย แต่ถ้าไหว้เจ้าที่ต้องไหว้ 5 ถ้วย
นอกจากนี้การไหว้เจ้าที่ต่างออกไปจากการไหว้ในวันพระจีน คือ การไหว้เจ้า 45 วันต่อหนึ่งครั้ง โดยเรียกว่า 1 สารท ปีหนึ่งจะมีการไหว้เจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด 8 ครั้ง หรือ 8 สารท ได้แก่
สารทที่ 1 คือ การไหว้ครั้งแรกของปี ไหว้เดือน 1 วันที่ 1 (เป็นการกำหนดวันทางจันทรคติของจีน) คือ ตรุษจีน เรียกว่า ง่วงตั้งโจ่ย
สารทที่ 2 คือ การไหว้เทพเจ้าของกลางคืน เดือน 1 วันที่ 15 เรียกว่า ง่วงเซียวโจ่ย
สารทที่ 3 คือ การไหว้วันเช็งเม้ง เดือน 3 วันที่ 4 เป็นประเพณีที่ลูกหลานไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน (ฮวงซุ้ย)
สารทที่ 4 คือ การไหว้โหงวเหว่ยโจ่ย ไหว้เดือน 5 วันที่ 5 เป็นเทศกาลไหว้ขนมจ้าง
สารทที่ 5 คือ การไหว้สารทจีน ไหว้เดือน 7 วันที่ 15 เรียกว่า ตงง้วงโจ่ย
สารทที่ 6 คือ การไหว้พระจันทร์ ไหว้เดือน 8 วันที่ 15 เรียกว่า ตงชิวโจ่ย
สารทที่ 7 คือ การกินเจ อยู่ระหว่างเดือน 9 เป็นการถือศีลบำเพ็ญตน
สารทที่ 8 คือ การไหว้ขนมอี้ หรือ ขนมบัวลอย ไหว้เดือน 11 เรียกว่า ไหว้ตังโจ่ย
ซึ่งการไหว้ 8 สารทใหญ่นี้ ถือเป็นการไหว้เจ้าตามประเพณีของคนจีน โดยในแต่ละสารทจะมีความหมายอยู่ในตัว และเครื่องบวงสรวงที่ใช้ไหว้เจ้าในแต่ละสารทก็จะแตกต่างกันออกไป
การไหว้เจ้า 8 สารทใหญ่ ส่วนมากจะไหว้กลางแจ้งภายในบ้าน โดยก่อนเริ่มพิธีไหว้ 8 สารท ก็ต้องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในตัวบ้านก่อน บางคนอาจมีการตั้งโต๊ะไหว้กลางแจ้งเพิ่ม โดยแยกจากโต๊ะบวงสรวงเทพเจ้าของพิธี 8 สารท เรียกว่า การไหว้ฟ้าดิน หรือไหว้ทีกง ซึ่งคนจีนบางกลุ่มจะไหว้ฟ้าดินก่อนการไหว้เจ้า 8 สารท
การไหว้ทีกงอาจไหว้ด้วยน้ำชากับผลไม้อย่างเดียว หรือจะไหว้ด้วยอาหารชุดใหญ่เหมือนการไหว้ 8 สารทก็ได้ การตั้งไหว้จะอยู่ในรั้วหรือนอกรั้วบ้าน แต่ต้องไหว้กลางแจ้ง และนอกจากอาหารไหว้ดังกล่าวแล้ว ยังมีกระดาษเงินกระดาษทองเป็นเครื่องบวงสรวงเหมือนการไหว้เจ้าเทศกาลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม หากต้องการไหว้ฟ้าดินรวมกับการไหว้เจ้า 8 สารทในครั้งเดียว ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยไม่ต้องแยกจัดโต๊ะเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ฟ้าดิน แต่ให้จัดโต๊ะไหว้เจ้า 8 สารทอย่างเดียวแล้วตอนจุดธูปไหว้ค่อยกล่าวถึงทีกงก่อนอธิษฐานไหว้ 8 สารท
ประเพณีการไหว้เจ้าทั้ง 8 ครั้งนี้ มีคำจีนเฉพาะเรียกว่า “โป๊ยโจ่ย”
โป๊ย คือ แปด
โจ่ย แปลว่า เทศกาล
โป๊ยโจ่ย จึงหมายถึง การไหว้เจ้า 8 เทศกาล
สำหรับการไหว้วันสิ้นปีหรือก๊วยนี้โจ่ย เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสารทที่ 1 กับสารทที่ 8 ถือเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่ง โดยก่อนเริ่มวันชิวอิก (วันก่อนที่จะเริ่มต้นปีใหม่ของจีน) จะไหว้บรรพบุรุษ ไหว้สัมพเวสีต่างๆ ก่อนวันเทศกาล 1 วัน (จะไม่ไหว้บรรพบุรุษในสัมพเวสีในวันตรุษจีน)
หมายเหตุ บางแห่งถือว่าไหว้สารทที่ 7 คือ ไหว้ตังโจ่ย และไหว้สารทที่ 8 คือไหว้วันสิ้นปี