การไหว้ครูเป็นวิถีประเพณีของชาวตะวันออก ไม่ว่าจะศึกษาวิชาการใดๆ ก็จะมีการไหว้ครูมาตลอด นับตั้งแต่เด็กเรียนหนังสือก็มีการไหว้ครู เรียนนาฏศิลป์ก็มีการไหว้ครู เรียนงานช่าง (วิศวกรรม, สถาปัตยกรรม) ก็มีการไหว้ครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เรียกว่า ศาสตร์เร้นลับ เช่น ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และที่เราเรียนฮวงจุ้ยอยู่นี้ก็เช่นกัน
คำว่า “ไหว้ครู” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า ไหว้ครู คือการทำพิธีไหว้ ครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์หมายถึง ความเป็นผู้รู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ และสามารถดูแลศิษย์ได้
ครู คือ ผู้สั่งสอนวิชาการให้ศิษย์ มาจากรากศัพท์ว่า “ครู” แปลว่า ผู้หนักแน่น หมายความว่า ผู้จะเป็นครูได้ต้องมีคุณธรรม คือ ความหนักแน่น อดทน จึงจะเป็นครูที่ดีได้ นอกจากนี้ในทางศาสตร์ต่างๆ ครูยังมีความหมายลึกเข้าไปอีก โดยอาจจำแนกได้เป็น
1. ครูเทพเจ้า ได้แก่ เทพเจ้าเบื้องบนที่มีความชำนาญพิเศษในแต่ละด้าน เช่น ครูพิฆเนศร์ เป็นครูทางศิลป์ ครูฤาษี (พ่อแก่) ทางนาฏศิลป์ ครูฤาษีทางไสยศาสตร์ ครูพระวิษณุกรรมทางงานช่าง ทางฮวงจุ้ยก็มีปรมาจารย์ ฟู ซี ซื่อ เป็นต้น
2. ครูเก่าแก่ ได้แก่ บุคคลรุ่นเก่าที่ล่วงลับไปแล้ว ถ่ายทอดวิชาการได้อย่างเชี่ยวชาญ เช่น ครูหมอชีวกโกมารภัจจ์ ทางหมอยา ครูโกณทัญญะ ทางหมอดู ครูฮ้อเฮียชุ้ง (เสี่ยโจ้ว) ทางฮวงจุ้ย เป็นต้น ซึ่งครูประเภทนี้นานๆ ไป บางท่านก็ได้รับยกย่องป็นเทพเจ้าก็มี
3. ครูสั่งสอน คือ ครูมนุษย์เรานี่เอง เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชาการสืบๆ มา และเป็นผู้สืบสานถ่ายทอดวิชาการนั้นๆ แก่เราผู้เป็นศิษย์ในปัจจุบัน
จุดประสงค์ของการไหว้ครู
1. เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้มีพระคุณ
2. เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์
3. เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ศิษย์ในการศึกษาและปฏิบัติวิชานั้นๆ
การไหว้ครู คือการที่ศิษย์แสดงความคารวะยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจว่า ท่านเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม ความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการจึงพร้อมใจกันปวารณาตน รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูด้วยความวิริยะอุตสาหะ มานะ อดทน เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ตั้งใจไว้ ส่วนใหญ่จะทำการไหว้ครูปีละครั้ง การที่ศิษย์ต้องเรียนกับครูนั้น จึงได้ชื่อว่า ศิษย์มีครู และคนไทยก็เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณจึงคิดถึงครูและมีพิธีไหว้ครู
นอกจากจะแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อครูแล้วศิษย์อาจจะกระทำการอะไรบางอย่างด้วยความคิดของตนเองที่นอกเหนือจากการสอนของครู แม้ว่าการกระทำนี้จะเป็นการสร้างสรรค์ดี หรือไม่ดีก็ตามก็คือว่าเป็นการผิดครู ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ฉะนั้นการไหว้ครูจึงเป็นโอกาสให้ศิษย์ได้ขอขมาลาโทษต่อครู และมีโอกาสบอกกล่าวครูบาอาจารย์ด้วยว่า สิ่งใดที่คิดแล้วเกิดความเจริญสร้างสรรค์สิ่งที่ดีก็ขอให้เจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป แต่ถ้าสิ่งใดคิดแล้วเป็นสิ่งไม่ดี มีการผิดพลาดก็ขอน้อมรับไว้ การบอกกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นการไหว้ครูช่วยเป็นพยาน และให้อภัยต่อศิษย์
การบูชาครู
สิ่งนี้ศิษย์ควรเคารพต่อครูบาอาจารย์
1. ให้การเคารพเทิดทูน เพราะท่านเป็นผู้มีพระคุณที่ทำให้เราได้ความรู้ขึ้นมา
2. รู้คุณและต้องแทนคุณท่าน คือ ช่วยทำธุระงานของท่านเท่าที่ทำได้ รวมทั้งการปรนนิบัติท่านตามสมควร สำหรับครูเทพเจ้าจะทำด้วยการบวงสรวงบูชาตามวาระตามควร ครูมนุษย์ก็ปรนนิบัติด้วยปัจจัยสี่ให้ท่านมีความสุขตามอัตภาพ
3. เผยแพร่เกียรติคุณแห่งวิชาการของครูบาอาจารย์ที่ได้ร่ำเรียนมา
การไหว้ครูนี้นอกจากเป็นเจตนาที่มุ่งไปยังตัวครูเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที การนึกถึงตนเองเพื่อขอขมาลาโทษแล้ว ยังโยงไปสู่สังคมด้วย คือต้องการให้สังคมรับรู้ว่าเราเป็นศิษย์มีครู
พิธีไหว้ครูเป็นพิธีที่แสดงให้ทุกคนรับรู้ว่า ครูของเราเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นที่เคารพยกย่อง พิธีนี้จึงมีผลต่อการสร้าง ความศรัทธาไปยังผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างศรัทธาปสาทะให้กับศิษย์ของศิษย์ต่อไป การสร้างศรัทธามิใช่เป็นเรื่องเหลวไหล แต่เป็นเรื่องของการสร้างความมั่นใจ นั่นคือ ถ้าผู้ใดมีความเชื่อถือผู้หนึ่งผู้ใดอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะช่วยให้ผู้นั้นมีความมั่นใจในสิ่งที่จะปฏิบัติ เช่นในด้านการเรียน ก็เกิดความมั่นใจว่า เราจะเรียนได้ดีแน่ ในเรื่องนั้น เรื่องนี้เพราะเวลาไหว้ครูนั้น ครูจะอวยพรให้กับศิษย์ พรที่ครูให้เป็นสิ่งที่ศิษย์ทุกคนปรารถนา นั่นคือความสุขความเจริญ ความมีอนาคตกว้างไกล รวมทั้งให้มีความสามารถในการเรียนวิชาต่างๆ การมีศรัทธา จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความสำเร็จของตนเองมากขึ้น
ดังนั้น การไหว้ครูจึงมีผลต่อการสร้างศรัทธาปสาทะให้กับลูกศิษย์ และแสดงว่า เราเป็นศิษย์มีครู คำว่า “ศิษย์มีครู” หมายถึง “คนเก่งที่มีครูเก่ง” นั่นคือ การไหว้ครูมิใช่ให้สังคมยอมรับรู้ว่าเราเป็นศิษย์มีครูเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้สังคมยอมรับรู้เพิ่มเติมว่า ที่เราเป็นคนเก่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะเรามี “ครูเก่ง” พิธีไหว้ครู จึงมีความหมายได้หลายนัย มีความขลัง และมีความศักดิ์สิทธ์มาก
การไหว้ครูต้องเป็นการไหว้ที่ออกมาจากน้ำใสใจจริง ซึ่งได้แก่การบูชา การแสดงความคารวะ และความกตัญญู
เมื่อตั้งจิตสำนึกว่าจะยกย่องเทิดทูนคุณความดี เรียกว่า บูชา
ด้วยความสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญของท่าน เรียกว่า คารวะ
ด้วยความสำนึก และระลึกถึงอุปการคุณของท่าน เรียกว่า กตัญญู
การไหว้ครูด้วยจิตที่ตั้งมั่นที่จะบูชา แสดงความคารวะ และแสดงความกตัญญูนั้น ตัวศิษย์เองจะมีความรู้สึกที่ดีว่า
1. เราเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ของครูอย่างเต็มที่
2. เราได้ใช้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมานั้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น
3. เราจะเป็นผู้ไม่ตกต่ำ
4. เราจะทำให้ความรู้และวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น