การไหว้วันสารทจีน ในตอนเช้า เริ่มจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้าน ไหว้ฟ้าดิน และเจ้าที่ ต่อมาเป็นการไหว้บรรพบุรุษ และจบท้ายด้วยการไหว้ผีไร้ญาติครับ
– เครื่องบวงสรวงเทพเจ้า ประกอบด้วย อาหารเจ ขนมหวาน ผลไม้ น้ำชา น้ำเปล่า และของบรรณาการต่างๆ
– ไหว้บรรพบุรุษ มีอาหารคาว ข้าวสุก ขนมหวาน ผลไม้ น้ำชา และเครื่องบรรณาการต่างๆ
– สำหรับสัมพเวสี ไหว้นอกบ้าน จัดอาหารคาวหวานใส่กระทงเป็นชุดเล็กๆ รวม 4 อย่าง
วันสารทจีนจะไหว้ในวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน โดยคนจีนเชื่อว่า ในเดือน 7 ตั้งแต่วันที่ 1 เดือน 7 เป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดเพื่อให้วิญญาณขึ้นมารับของเซ่นไหว้ได้ และประตูนรกนี้จะปิดในวันสิ้นเดือน 7 ตามปฏิทินจีน
ชาวจีนเรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลวิญญาณพเนจร มีประมาณ 1 เดือน เพื่อให้พวกผีเหล่านั้นได้กินกันทั่วถึง จึงได้มีกำหนดให้ไหว้ในวันเดียวพร้อมกัน คือ เดือน 7 วันที่ 15 ค่ำ หรือเรียกว่า ชิดโง้ยปั่ว เป็นพิธีการมาจนถึงปัจจุบันซึ่งต่างก็เรียกขานกันว่า ตั่งเจะ หรือ ต่งโจ่ย
ตามคำบอกเล่าต่อกันมาหลายตำนานเกี่ยวกับเทศกาลสารทจีน อาทิ เทพเจ้าแห่งดิน หรือ เจ้าดิน เซ็งฮือไต้ตี่ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณเพื่อส่งวิญญาณที่ทำดีมากๆ ขึ้นสวรรค์ ส่วนวิญญาณที่ทำบาปก็ต้องตกนรกรับโทษ แต่ท่านก็ยังมีเมตตาอนุญาตให้พวกวิญญาณในนรกขึ้นมารับของเซ่นไหว้ในช่วงเดือนนี้ได้
ถ้าตามลัทธิเต๋าถือเอาเดือน 7 วันที่ 15 ค่ำ เป็นวันที่เทพเจ้าไท่เสียงเล่าจุน กับ เทพเจ้าง่วนสีเทียนจุน ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่ออำนวยพรให้แก่เหล่ามนุษย์ทั้งหลาย
นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ตี่กั๋ว ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์เช่นเดียวกัน เพื่อตรวจสอบความดีความชั่วที่มนุษย์แต่ละคนได้กระทำในหนึ่งรอบปีโดยสอบถามจากเทพเจ้าธรณี นักพรตลัทธิเต๋าต่างประกอบพิธีเชิญพวกผีไม่มีญาติทั้งหลายที่อดอยากให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ สุรา อาหารคาวหวาน ให้กินอิ่มจนทุกคนเรียกว่า พิธีสารทตงง้วน
และเนื่องจากความเชื่อที่ว่าประตูนรกจะเปิดในเดือน 7 นี้ จึงมีพิธีการทำบุญทิ้งกระจาดตามวัดจีนหรือศาลเจ้าจีน โดยกำหนดหลังจากวันสารทจีนไปจนถึงสิ้นเดือน 7 ของจีน เป็นประจำทุกปี
ชุดที่ไหว้ในวันสารทจีน
การไหว้ในเทศกาลสารทจีนต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ชุด
ชุดแรก ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมที่ไหว้ก็ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดที่สอง ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ถ้าเป็นคนมีฐานะก็นิยมไหว้โหงวแซ คือมี เป็ด ไก่ หมู ตับ ปลา พร้อมด้วยกับข้าวอีกหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะจัดที่บรรพบุรุษชอบ หรือจะจัดแบบที่ลูกหลานคนที่ได้กินจริงชอบ แต่ตามธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษ ต้องมีของน้ำสำหรับซดให้คล่องคอ จะเป็นน้ำแกงก็ได้ หรือเป็นขนม น้ำใส ๆ เช่น อี๊ (คือขนมบัวลอย) ก็ได้ วางเคียงกับชามข้าวสวยและน้ำชา ของหวานก็มี ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง
ชุดที่สาม ชุดสำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ
วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ (หรือบางแห่งเรียกว่า ฮ้อเฮียตี๋) แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการและที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองแบบเฉพาะ ที่เรียกว่า อ่วงแซจิว จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
พิธีไหว้
การไหว้เทพเจ้าจะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้านนิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกันให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้ครับ
ขนมที่ใช้ไหว้ ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ
เนื่องจากที่เมืองไทยหาส่วนผสมที่ใช้ทำขนมทั้งห้านี้ไม่ได้ครบถ้วน จึงงดไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการไหว้ขนมเข่ง ขนมเทียน ในการไหว้เทศกาลสารทจีนแทน โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ
ประเพณีสารทจีนนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วม กันอย่างพร้อมหน้าและมีความสุข