ผมเชื่อว่าหลายท่านคงรู้สึกแปลกใจว่าทำไมอาคาร บ้านเรือน ที่เราใช้สอยอยู่เป็นประจำ ทั้งที่จัดวางออกแบบใช้สอยสิ่งต่างๆ จนเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีความสวยงามลงตัวดีแล้ว…
แต่เมื่อมาประเมินฮวงจุ้ย กลับถูกแนะนำให้ปรับเปลี่ยนด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาฮวงจุ้ย หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนกลับมา
ชาวจีนโบราณแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 4 ส่วน คือ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตก จากการสังเกตุหมู่ดาวบนฟากฟ้า จับกลุ่มทิศทางการเรียงตัวของหมู่ดาว เทียบเข้ากับลักษณะของสัตว์ หรือรูปลักษณ์ในตำนานตามความเชื่อ
โดยให้ทิศตะวันออก แทนกลุ่มดาวมังกรเขียว ธาตุไม้ (จากตำนานการปรากฏขึ้นของจักรพรรดิเหลือง ทางทิศตะวันออก)
ทิศตะวันตกแทนกลุ่มดาวเสือขาว ธาตุทอง
ทิศใต้แทนกลุ่มดาวหงส์แดง ธาตุไฟ
และทิศเหนือ แทนกลุ่มดาวเต่าดำ ธาตุน้ำ แต่ละทิศครองดาว 7 ดวง (รวมทั้งหมด 28 ดวง)
ตำแหน่งที่ตั้งตามตำราฮวงจุ้ย ถูกแทนที่ด้วยสัตว์มงคลชนิดต่างๆ 4 ชนิด ได้แก่
– เต่าดำ ซึ่งจะอยู่ด้านหลัง มีรูปลักษณ์เป็นเต่า แต่มีเกล็ดคล้ายงู มีลักษณะร่วมกันของเต่าและงู บ้างใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเต่าที่มีงูพันรัดกลางลำตัว
– หงส์แดง จะอยู่ทางด้านหน้า มีรูปลักษณ์เดิมมาจากนกหลากหลายชนิด อาทิ ไก่ฟ้า ห่านฟ้า นกกระจอก เหยี่ยวนกกระจอก นกนางแอ่น ฯลฯ ในตำนานกล่าวว่า หงส์มีรูปคล้ายไก่ฟ้า มีสีขนสลับลายเป็นประกาย มีนิสัยรักสะอาด และช่างเลือก
– เสือขาว จะอยู่ทางด้านขวา มีภาพลักษณ์เป็นเทพเจ้าแห่งศึกสงครามและการล่าสังหาร เป็นตัวแทนของอำนาจบารมี ความเคารพยำเกรง
– มังกรเขียว จะอยู่ทางด้านซ้าย รูปลักษณะ มีลำตัวเป็นงู หัวเป็นกิเลน หางเป็นปลา มีเครายาว มีเขา เท้าคล้ายกรงเล็บ รูปลักษณ์เป็นมังกรเหิน เปี่ยมด้วยพลังอำนาจ
โดยพื้นฐานทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ทราบกัน คือ เสือขาว ซึ่งอยู่ทางด้านขวานั้นต้องนิ่ง ส่วนมังกรเขียวนั้นจะต้องเคลื่อนไหว เต่าดำ ก็เช่นเดียวกัน เป็นตำแหน่งที่ต้องความสงบนิ่ง และหงส์แดง เป็นตำแหน่งที่ต้องเคลื่อนไหว
ปัญหาที่หลายท่านข้องใจ คือ กฏเกณฑ์เหล่านี้จะต้องตายตัวหรือไม่?
แท้จริงแล้ว ตำแหน่งทางด้านหน้า ด้านหลัง ซ้าย และ ขวา ของที่ตั้งถูกกำหนดขึ้นโดยใช้ชื่อสัตว์มงคลของจีน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์เรียกแทนคำเรียกธรรมดา
หากลองวิเคราะห์พิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นแก่นแท้ของฮวงจุ้ย จะเป็นหลักแห่งการสมดุลก็คือ เมื่อมีนิ่ง ก็ต้องมีเคลื่อนไหว หรือหลักแห่งความสมดุล อิม เอี้ยง (หยิน หยาง) ไม่จำเป็นต้องด้านขวานิ่ง หรือด้านซ้ายจะเคลื่อนไหวได้เท่านั้น
เพราะหากเป็นดังที่เข้าใจ ก็เท่ากับว่าศาสตร์แห่งวิชาฮวงจุ้ยนั้นขาดเหตุผลโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งสำคัญที่ฮวงจุ้ยต้องการจะบอกนั้นคือ การผสมผสานกลมกลืนในสัดส่วนที่พอเหมาะไม่มากไม่น้อยไป
ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุป ในการนำเอาหลักเกณฑ์ของ เต่าดำ หงส์แดง เสือขาว และมังกรเขียว มาใช้นั้น ควรยึดหลักแห่งความสมดุล ซึ่งเป็นหัวใจของวิชาฮวงจุ้ย ไม่ควรยึดเอากฏเกณฑ์ที่ท่องจำต่อๆ กันมา โดยปราศจากการวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับยุคสมัย และสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปครับ