เทศกาลเช็งเม้ง (清明节, ชิงหมิง, เซงเม้ง, qing ming) เป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน (ฮวงซุ้ย) ในช่วงเดือน 3 ของจีน (กำหนดจากหนึ่งปีแบ่งเวลาออกเป็น 24 ช่วง เดือนหนึ่งมี 2 ช่วง) เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยกำหนดให้ไหว้ภายใน 15 วันแรกของเดือน วันไหนก็ได้ ซึ่งที่เมืองไทยนิยมไปไหว้ในวันที่ 5 เมษายนของทุกปีเป็นหลัก ซึ่งยังตกอยู่ในช่วงเดือน 3 ของจีน แต่บางบ้านก็อาศัยดูวันดีและก็มีอีกหลายบ้านที่อาศัยดูวันสะดวก (มีการกำหนดนับสองแบบคือ ก่อน 10 วัน หลัง 8 วัน กับ ก่อน 10 วัน หลัง 10 วัน)
“เช็ง” (清) เกิดจากการผสมอักษรจีน 2 คำ เข้าด้วยกัน คือ น้ำ + สีเขียว รวมกัน หมายถึง ความบริสุทธิ์
และ “เม้ง” (明) เกิดจากการผสมอักษรจีน 2 คำ เข้าด้วยกัน คือ พระจันทร์ + พระอาทิตย์ หมายถึง ความสว่าง
เมื่อรวมแล้วหมายความถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์
เช็งเม้ง หรือ เชงเม้ง ในประเทศจีน เริ่มต้นประมาณ 5 – 20 เมษายน เป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะคลายความหนาวเย็น เริ่มเข้าสู่ความอบอุ่น มีฝนตกปรอยๆ มีบรรยากาศสดชื่น ท้องฟ้าใสสว่าง ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม (เป็นที่มาของชื่อ เช็งเม้ง) สมควรแก่การไปชมทิวทัศน์ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมไปไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน แทนการไหว้อยู่ในบ้าน แต่ต้องไปไหว้ในช่วงเช้า อย่าให้เลย 12.00 น.
พูดถึงเทศกาลเช็งเม้ง ต้องย้อนกลับไปเทศกาลหนึ่งในยุคโบราณซึ่งปัจจุบันได้เลิกปฏิบัติไปแล้ว คือเทศกาลหันสือเจี๋ย (寒食节) หรือการรับประทานในฤดูหนาว ถือเป็นจุดเริ่มของที่มาเช็งเม้ง เทศกาลหันสือ ยังเรียกว่า เทศกาลโสวสือ (熟食节) หรือเทศกาลจิ้นเยียน (การห้ามก่อควันไฟ) หรือเทศกาลเหริ่ง (เทศกาลหนาว) ช่วงเวลาของเทศกาลจะห่างจะฤดูหนาว 105 วัน หรือห่างจากเทศกาลเช็งเม้ง 1-2 วัน ในช่วงเทศกาลดังกล่าว จะห้ามก่อไฟ จึงต้องรับประทานอาหารที่ปรุงสุกเตรียมไว้ก่อนแล้ว หรืออาหารที่เย็นชืด ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อเรียกเทศกาล
เทศกาลหันสือ (หานสือ) กล่าวกันว่ามีความเป็นมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (春秋) ในแคว้นจิ้น (晋国) เพื่อรำลึกถึงองค์ชายแคว้นจิ้นคือ เจี้ยจื่อ (介子) และจ้งเอ่อ (重耳) จ้งเอ่อได้ไปอยู่ในต่างแดนเสีย 19 ปี ในขณะที่เจี้ยจือได้สร้างผลงานให้กับประเทศชาติแล้วเชิญจ้งเอ่อกลับมาเพื่อขึ้นครองบัลลังก์เป็น จิ้นเหวินกง (晋文公) แล้วตนเองก็เข้าป่าไปปลีกวิเวกพร้อมด้วยมารดา จิ้นเหวินกงทราบเข้า ก็ให้คนไปตามหา แต่หาเท่าไรก็ไม่พบจึงใช้วิธีจุดไฟเผาป่าเพื่อบีบบังคับให้เจี้ยจื่อออกมา แต่ปรากฏว่าเจี้ยจื่อกับมารดาได้กอดต้นไม้ใหญ่ไว้ยอมให้ไฟไหม้ตายโดยไม่ยอมออกจากป่า จิ้นเหวินกงเสียใจมากจึงได้ออกคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อภูเขาเหมี่ยนเป็นภูเขา เจี้ยเพื่อรำลึกถึงเจี้ยเจื่อ ปัจจุบันคือภูเขาเจี้ยในอำเภอเจี้ยซิว (介休) ในมณฑลซานซี (山西) และยังออกคำสั่งให้วันที่เจี้ยจื่อถึงไฟไหม้ตายเป็นวันหันสือ และให้ถือปฏิบัติทุกๆ ปี โดยไม่ให้ก่อไฟ กินข้าวเย็นแทน
หากแต่ว่า ที่มาที่แท้จริงของเทศกาลหันสือ มาจากสมัยโบราณที่การก่อไป เนื่องจากฤดูต่างกัน ไม้ที่นำมาก่อไฟก็ต้องใช้ต่างกัน จึงมีประเพณีปฏิบัติเวลาเปลี่ยนฤดูก็มีการเปลี่ยนกองเพลิงกันใหม่ ฉะนั้นถ้าถึงฤดูใหม่ แต่ไฟใหม่ยังไม่มา ก็จะห้ามใช้ไฟโดยเด็ดขาด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในยุคนั้น ประชาชนจึงต้องตระเตรียมอาหารไว้ในช่วงที่ขาดไฟ หลังจากนั้นประเพณีปฏิบัตินี้จึงมีการนำเอาตำนานที่เล่าลือกันของเจี้ยจื่อ มาปะติดปะต่อกัน กลายเป็นเทศกาลหันสือ แต่เนื่องจากระยะเวลาเทศกาลหันสือนานนับเดือน การรับประทานอาหารที่เย็นชืดไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ภายหลังจึงมีการหดระยะเวลานั้นลงเหลือ 10 วัน 7 วัน 3 วัน จนเหลือ 1 วัน จนถึงสมัยราชวงศ์ถัง (唐) จึงกำหนดตรงกับวันเช็งเม้ง
ความสำคัญในวันเช็งเม้ง เป็นวันที่ลูกหลานมาร่วมกันเซ่นไหว้ เคารพสักการะบรรพบุรุษที่หลุมฝังศพ การนำของมาเซ่นไหว้ให้กับบรรพบุรุษซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู มีความรักใคร่สามัคคีกันในหมู่เครือญาติและมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อไปถึงสุสาน ให้ไหว้ศาลเจ้าที่แป๊ะกงด้วยของเซ่นไหว้ ผลไม้ ขนมอี๊ 5 ที่ ชา 5 ถ้วย เพราะการไหว้เจ้าที่คือการไหว้ธาตุทั้งห้า เวลาจุดธูปไหว้ ให้ใช้ธูป 5 ดอก บางแห่งมีการไหว้เจ้าประตู (มึ่งซิ้ง) ต้องไหว้ธูปเพิ่มอีก 2 ดอก ปักที่เสาประตูข้างละ 1 ดอก จากนั้นจึงเข้าไปไหว้บรรพบุรุษที่หลุม ลูกหลานจะไปทำความสะอาด (เส้าหมอ) ลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ (คนตายแล้วลงสีเขียว หรือสีทองขลิบเขียว คนเป็นลงสีแดง) ดายหญ้า (ห้ามถอนหญ้า อาจกระทบตำแหน่งห้าม เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ) บ้างก็ตกแต่งด้วยกระดาษม้วนสายรุ้ง (บ่องจั้ว) สำหรับสุสานคนเป็น (แซกี) ใช้สายรุ้งสีแดง ส่วนสุสานคนตาย (ฮกกี) ใช้หลากสีได้ และห้ามปักธงลงบนหลังเต่าเด็ดขาด เพราะเท่ากับมีของแหลมทิ่มแทงเข้าใส่บนหลุม และบางความเชื่อทำให้หลังคาบ้านของบรรพบุรุษในอิมกัง (โลกของคนตาย) รั่วได้
ของไหว้ที่หลุม มี 2 ชุด ชุดหนึ่งไหว้โท้วตี่ซิ้ง คือ เทพยดาผืนดิน อีกชุดหนึ่งไหว้บรรพบุรุษ
1. กราบไหว้เจ้าที่ เป็นการให้เกียรติ และขอบคุณที่ช่วยคุ้มครองดูแล การจัดวางของไหว้ (เรียงลำดับจากป้าย)
– เทียน 1 คู่ + ธูป 5 ดอก (อาจปักลงบนฟักได้)
– ชา 5 ถ้วย
– เหล้า 5 ถ้วย
– ของไหว้ต่าง ๆ เช่น ขนมอี๋ ผลไม้
– กระดาษเงิน กระดาษทอง (กิมจั๊ว)
2. กราบไหว้ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรษ ตั้งเครื่องบูชาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของท่าน การจัดวางของไหว้ (เรียงลำดับจากป้าย) ห้ามวางของตรงแท่นหน้า เจีี๊ยะปี (ป้ายหิน ที่จารึกชื่อ บรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้าออกของ วิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่เก้าอี้นั่ง อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
– ชา 3 ถ้วย
– เหล้า 3 ถ้วย
– ของไหว้ต่าง ๆ ตามความเชื่อประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เช่น ขนมอี๋ ผลไม้ ขนมถ้วยฟู
– กระดาษเงิน กระดาษทอง (กิมจั๊ว) ฯลฯ
– เทียน 1 คู่ + ธูป ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก
ในการไหว้ ต้องไหว้เทพยาดาผืนดินก่อน เพราะถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าที่ จากนั้นจึงไหว้บรรพบุรุษ ต้องไหว้ 3 รอบ (เฉพาะบรรพบุรุษ) รอจนไหว้ครั้งที่ 3 แล้ว จึงเผากระดาษเงินกระดาษทอง ส่วนธรรมเนียมการจุดประทัดเพื่อให้เสียงดังช่วยขับไล่สิ่งไม่ดีและจะทำให้ลูกหลานยิ่งร่ำรวยนั้น ตามหลักวิชาฮวงจุ้ยถือว่า การจุดประทัดเป็นการกระตุ้น ต้องดูตำแหน่งที่ถูกต้องจึงจะได้โชคลาภ แต่หากผิดตำแหน่ง จะเกิดปัญหา (ผู้ปฏิบัติต้องดูตำแหน่งจากวิชาดาว 9 ยุค และฤกษ์ยาม)
ส่วนธรรมเนียมโบราณของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่จะเอาหอยแครงลวกไปไหว้ด้วย และจะช่วยกันกินหอยแครงตรงสุสาน และโปรยเปลือกหอยที่เหลือไว้บนเนินดิน มีความหมายถึง มีลูกหลานมากถือว่าไม่ขัดกับหลักวิชา สำหรับการขุดเอาดินมากลบบนหลังเต่า โดยเชื่อว่าจะทำให้การค้าเพิ่มพูน จะทำก็ต่อเมื่อหลังเต่ามีรูแหว่งไป จึงซ่อมแซม โดยเฉพาะการขุดดิน ถือเป็นการกระทบธรณี และต้องดูฤกษ์
การไปไหว้บรรพบรุษ ครั้งแรกต้องดูฤกษ์ (ปีต่อไปไม่ต้องดูฤกษ์อีก) โดยปกติแล้วซินแสจะเป็นผู้กำหนดฤกษ์ให้ หากทิศด้านหลังสุสาน เป็นทิศห้ามประจำปีต้องใช้ฤกษ์ปลอดภัยในการไหว้ และไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นช่วงเช็งเม้งเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการจราจรคับคั่ง เพื่อหลีกหนีปัญหาการจราจร สามารถไปไหว้ในช่วงสารทตังโจ่ยแทนได้
เทศกาลในการไหว้บรรพบุรุษ
สารทชุนฮุน ( 21 มีนาคม – 4 เมษายน )
สารทเช็งเม้ง ( 5 เมษายน – 20 เมษายน )
สารทตังโจ่ย ( 22 ธันวาคม – 5 มกราคม )