เทศกาลกินเจ

ประเพณีเจียะเก้าอ้วงเจ หรือเทศกาลบุญถือศีลกินเจเดือน 9 เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ชาวจีนและชาวไทย ตรงกับวันขึ้น 1-10 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน

โดยนิยมกินล้างท้องก่อนหนึ่งวัน ซึ่งตามความเชื่อของชาวจีนถือว่าเป็นช่วงที่เทพเจ้า 9 พระองค์ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลโลกมนุษย์และดูแลชะตามนุษย์ จะลงมาสอดส่องดูและความเป็นไปในโลก เพื่อถวายบูชาแด่เทพเจ้าดวงดาว 9 องค์ที่มาชุมนุม และไหว้วันเกิดเจ้าแม่เต๋าบ้อ (ศาลเจ้าในวัดเล่งเน่ยยี่จะมีรูปบูชา)

ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเกิดเป็นประเพณีที่ชาวจีนประพฤติธรรมถือศีลกินเจ ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข พิธีกรรมตามวัดหรือโรงเจก็จะมีการอัญเชิญเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ มาสถิตเป็นประธานเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้

การบูชาจะกำหนดในวันขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 3 ค่ำ ขึ้น 6 ค่ำ และขึ้น 9 ค่ำ ซึ่งชาวจีนจะนุ่งห่มชุดขาวไปไหว้พระ ไหว้เจ้าตามวัดหรือศาลเจ้า และถือศีล 5 บางคนเคร่งขนาดถือศีล 8 ก็มี

ในช่วงท้ายของเทศกาลก็จะมีการลอยประทีปที่คำจีนเรียกว่าปั่งจุ้ยเต็ง ลักษณะคล้ายกับลอยกระทงของไทยเรา และพิธีจะจบด้วยการส่งเทพเจ้าในวันขึ้น 10 ค่ำ

เจียะแจ (食齋) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยะธรรม หลิ่งหนาน ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั่งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู (吃素) ในภาษาจีนกลาง (สำเนียงปักกิ่ง)

เจียะ (食) ในภาษาถิ่นใต้ หากใช้ในความหมายของคำกิริยา แปลว่า กิน
แจ (齋) แปลว่า บริสุทธิ์ (清淨) (อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน, ไต้หวัน)

คำว่า เจียะแจ หรือ เจียะเจ หรือ ตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ กินกระยาบวช จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ (ในลัทธิกินเจ) ซึ่งหมายความถึงอาหารที่ไม่คาวหรือไม่เจือปนซากผลิตภัณฑ์ของสัตว์ รวมทั้งไม่ปรุงใส่พืชผักต้องห้าม

คำว่าเจียะแจนี้ ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะไฉ่ (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า กินผัก แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น

เข้าใจการกินเจอย่างถูกต้อง

ตั้งแต่โบราณกาลนับพันๆ ปี จวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่ว่าโลกจะผันแปรไปในทิศทางใดก็ตาม คนจำนวนหลายพันหลายหมื่นครอบครัวที่ดำรงชีวิตอยู่ ด้วยการรับประทานแต่อาหารเจสืบทอดจากบรรพบุรุษก็ยังมีอยู่ให้พบเห็นได้ในทุกวันนี้

“อาหารเจ” เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ได้แก่ กระเทียม, หัวหอม, หลักเกียว, กุ้ยฉ่าย, ใบยาสูบ

บรรพชนในแต่ละครัวเรือนของคนกินเจได้ถ่ายทอดหลักของการกินเจที่ถูกต้อง และศิลปะในการปรุงไว้ให้แก่ลูกหลานของตนสืบต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารเจเป็นอาหารที่มีรสจืดชืดไม่อร่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

แท้จริงแล้วอาหารเจมีรสชาดอร่อยกลมกล่อมต่างไปจากอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเจไม่มีกลิ่นเหม็นคาวใดๆ เลย

นอกจากนี้บางคนยังคิดว่า หากรับประทานแต่อาหารเจจะทำให้เป็นโรคขาดอาหาร แต่ทางการแพทย์กลับยืนยันไม่ว่าจะเป็นคนที่กินอาหารเนื้อสัตว์หรือคนที่กินเจ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคขาดอาหารได้เท่ากัน

สาเหตุสำคัญของโรคขาดอาหารในคนทั้ง 2 กลุ่ม ก็คือ การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก บริโภคอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต แป้งและน้ำตาล โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่ เป็นเหตุให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนเพียงพอที่ร่างกายต้องการ

จึงสรุปได้ว่าโรคขาดอาหารขึ้นอยู่กับนิสัยกินตามใจ เลือกกินแต่อาหารที่ตนชอบ โดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ที่จะได้จากการรับประทานอาหารนั้นๆ

ปัจจุบันอาหารเจมีเมนูใหม่ๆ หรืออาหารเจเมนูตำรับไทย เช่น ส้มตำเจ, แกงส้มเจ, ขนมจีนน้ำยาเจ, แกงเจ, ยำของเจ หรือเมนูเจใหม่ๆ เช่น หมูสะเต๊ะเจ, หูฉลามเจ, เย็นตาโฟเจ ฯลฯ เป็นต้น

“อาหารเจและมังสวิรัติ คือกุญแจสู่การลดภาวะโลกร้อน”