อิม-เอี้ยง เป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบของสรรพสิ่งที่อยู่ในขอบเขตของจักรวาล ดำเนินไปตามวิธีทางของตัวมันเอง โดยลักษณะที่ตรงกันข้ามกันอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลง การเป็นไปที่มีการเกิดขึ้นและดับไป เริ่มต้น, สิ้นสุด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เท่านั้น จึงเป็นที่มาแห่งความเจริญ การวิวัฒนาการ จนพัฒนาถึงจุดสูงสุด และก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นที่มาแห่งความเสื่อม ความล่มสลาย จนถึงความหมดสิ้นทุกสิ่งทุกประการ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นความเกิดใหม่สู่การพัฒนาไปสู่ความเจริญ เป็นดังนี้ไปตลอดกาลเรื่อยไปไม่จบสิ้น เป็นตัวแสดงความแน่นอน ว่าสรรพสิ่งเป็นความไม่แน่นอน
การแสดงความเป็นอิมและเอี้ยง แสดงสภาวะตรงข้ามกัน ไม่สอดคล้องกัน แต่จะดำเนินไปตามธรรมชาติ อย่างเที่ยงธรรมเสมอ ทั้งสองจึงเป็นวิถีของธรรมชาติที่แท้จริง เป็นธรรมะ เป็นความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา โดยมีหลักทางพุทธธรรม คือ “ไตรลักษณ์” เป็น ธรรมนิยาม 3 ประการคือ สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงหนึ่ง สรรพสิ่งทั้งปวงเป็นทุกข์หนึ่ง สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนหนึ่ง หรือที่ขานว่า “อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา”
อิม-เอี้ยง เป็นขั้ว 2 ขั้ว หรือเป็นธาตุ 2 ธาตุ (อันเป็นทิพย์) ซึ่งปรากฏการณ์นานาในโลกนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทเช่นนี้เอง คือถ้าไม่เป็นอิมก็ต้องเป็นเอี้ยง อิม คือ ดำ มืด ร้อน บาป ชั่ว ทุกข์ หญิง หลัก โลก (ดิน) แข็ง ฯลฯ และเอี้ยงคือ ขาว สว่าง เย็น บุญ ดี สุข ชาย เบา สวรรค์ (ฟ้า) อ่อน ฯลฯ และทั้งสองประเภทนี้จะเปลี่ยนไปมาซึ่งกันและกัน คือเมื่ออิมแก่มากๆ ก็จะเปลี่ยนเป็นเอี้ยง และเมื่อเอี้ยงแก่มากๆ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นอิม