คำว่า “เจ” ในภาษาจีน มีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า “อุโบสถ”
การถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์จึงนิยมเรียก “การไม่กินเนื้อสัตว์” ไปรวมกับคำว่า “กินเจ” ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย
ฉะนั้นคนที่กินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามด้วย
เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า “กินเจที่แท้จริง” ดังคำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ “ถือศิล กินเจ”
ตามร้านขายอาหารเจ เราพบเห็นตัวอักษร 齋 คำนี้ อ่านว่า “ไจ” (เจ) แปลว่า ไม่มีของคาว เขียนด้วยสีแดงบนพื้นเหลืองเสมอ
ในช่วงเทศกาลกินเจจะมีขึ้นในวันขึ้น ๑ – ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ประมาณเดือนตุลาคม) จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไปอาหารเจ เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นมาจากพืชผักธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และที่สำคัญต้องไม่ปรุงด้วยผักฉุนทั้ง 5 ชนิด ได้แก่
1. กระเทียม หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม
2. หัวหอม หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่
3. หลักเกียว คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาวกว่า
4. กุ้ยฉ่าย ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า
5. ใบยาสูบ บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา
ผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ ได้แก่
1. กระเทียม ทำลายการทำงานของ หัวใจ ซึ่งกระทบกระเทือนต่อ ธาตุไฟในกาย
2. หัวหอม ทำลายการทำงานของ ไต ซึ่งกระทบกระเทือนต่อ ธาตุน้ำในกาย
3. หลักเกียว ทำลายการทำงานของ ม้าม ซึ่งกระทบกระเทือนต่อ ธาตุดินในกาย
4. กุ้ยฉ่าย ทำลายการทำงานของ ตับ ซึ่งกระทบกระเทือนต่อ ธาตุไม้ในกาย
5. ใบยาสูบ ทำลายการทำงานของ ปอด ซึ่งกระทบกระเทือนต่อ ธาตุทองในกาย
สำหรับกระเทียม ทางการแพทย์ค้นพบว่า มีสารที่สามารถละลายไขมันในเส้นโลหิต (คลอเลสเตอรอล) จึงใช้รับประทานเป็นยาได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบ อุดตัน เป็นต้น
และทางการแพทย์จีนแผนโบราณก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร รักษาโรคได้
แม้ว่ากระเทียมจะเป็นยาดีแต่เนื่องจากมีความระคายเคืองสูง ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะและโรคตับก็ไม่ควรกินมาก
ในตำราสมุนไพร หอมแดงมีสรรพคุณช่วยรักษาโรค โดยนำหัวสดๆ หนัก 15-30 กรัม มาต้มแล้วดื่มจะช่วยขับพยาธิ ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ปวดประจำเดือน และอาการบวมน้ำ
แต่ก็ระบุพิษร้ายไว้ด้วยว่า ในกรณีที่บริโภคอยู่เป็นประจำหรือกินมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการหลงลืมง่าย ประสาทเสีย มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย และนัตย์ตาฝ้ามัว
ดังนั้น ในกรณีของคนปกติทั่วไปที่ร่างกายไม่ได้ป่วยหรือเป็นโรคใดๆ เลย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาเข้าไปทุกวัน เข้าทำนองเดียวกันกับคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัด แต่ก็ยังคงกินยาแก้หวัดเป็นประจำ กลับก่อให้เกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่ายกาย
สำหรับอาหารมังสวิรัติ จะใช้ผักทุกประเภทมาปรุงอาหารรับประทาน ดังนั้น ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว หากจะทดลองปรุงและรับประทานอาหารเจโดยไม่บริโภคผักฉุนทั้ง 5 ประเภท ก็เรียกได้ว่า เป็นอาหารเจได้แล้วนั่นเอง
การรับประทานอาหารเจให้ผลดีต่อจิตใจดังนี้
1. จิตใจมีความสงบ เยือกเย็น สุขุม บังเกิดเมตตาจิต
2. หยุดก่อหนี้บาป ตัดกรรมเวรที่ผูกพัน
3. ทำให้มีสติมั่นคง
4. ตนเองและครอบครัวจะมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
5. บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สรรเสริญชื่นชมอำนวยพร
วันทั้ง 7 ที่ควรงดเว้นทานเนื้อสัตว์
1. วันเกิดของตนเอง
2. วันเกิดของลูกหลาน
3. วันแต่งงาน
4. วันจัดเลี้ยงเพื่อนฝูงญาติมิตร
5. วันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
6. วันทำบุญสร้างกุศล
7. วันขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
(ที่มา: จากหนังสือเสริมมงคลชีวิตด้วยการกินเจ)