ก่อนที่จะเริ่มบทความเกี่ยวกับวิธีการวิเคราะห์ฮวงจุ้ยด้วยวิชาดาว 9 ยุค
เนื้อหาในบทความนี้ผมจะแนะนำให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ “ยุค” ก่อนครับ ว่ามีหลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งอย่างไร เพื่อให้การใช้วิชาดาว 9 ยุค เป็นไปอย่างถูกต้องและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ
เรื่องของยุคก็คือ เรื่องของเวลา และอายุสิ่งต่างๆ ในที่นี้จะพูดถึง อายุของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น
อาคารหรือสร้างที่ต่างๆ เมื่อจะนำมาวิเคราะห์จำเป็นที่จะต้องทราบอายุ และปีที่เปิดดำเนินการว่าอยู่ในช่วงเวลาสมัยใด
แม้แต่ในชุมชนก็จะมีระยะเวลาแห่งความเจริญ ความเสื่อม และความตกต่ำสลับกันไป
ดังนั้นการที่เราทราบว่า ยุคใด สมัยใด เป็นยุคที่เจริญหรือไม่เจริญ ของสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นเรื่องจำเป็นในการวิเคราะห์เวลาในวิชาฮวงจุ้ยจะสัมพันธ์กับการหมุนเวียนของดวงดาวในจักรวาล
สำหรับ วิธีการแบ่งยุคของดาว 9 ยุค หลงจือถือตามตำแหน่งของดวงดาวในกลุ่มทิศเหนือเป็นหลัก ซึ่งโหราศาสตร์จีนนั้น แบ่งดวงดาวบนทองฟ้าออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ
กลุ่มดาวที่หมุนทั้ง 4 กลุ่มนี้จะมีกลุ่มดาวทิศเหนือที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลหรือมีอำนาจต่อโลกเรามากกว่ากลุ่มดาวอื่น กลุ่มดาวทิศเหนือ เราเรียกว่า “กลุ่มเก้าดาว” หรือภาษาจีนแต้จิ๋ว เรียกว่า “ปักเต้าแช”
กลุ่มดาวนี้จะส่งผลต่อดาวที่โคจรอยู่ใกล้โลกเช่นกัน ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดวงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ ดาวทั้งเจ็ดดวงนี้ จะส่งพลังหรือแรงดึงดูดจากกลุ่มเก้าดาว และในเก้าดาวนี้แต่ละดวง จะเป็นเจ้าของช่วงระยะที่เรียกว่า ยุค มีระยะเวลาช่วงละ 20 ปี
ทั้งนี้เพราะในทุกๆ 20 ปี บนท้องฟ้าจะมีดาวพฤหัส และ ดาวเสาร์ โคจรมาพบกันครั้งหนึ่ง (ดาวพฤหัสโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดาวเสาร์) ในช่วงเวลาแต่ละยุค จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จากการโคจรมาพบกันของดาวทั้งสอง
สำนักหลงจือจึงนับเอาปรากฏการณ์ที่ว่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปี เป็นระยะเวลายุคหนึ่งโดยแบ่งออกได้เป็น 9 ยุค ตามอิทธิพลของกลุ่มเก้าดาว และเมื่อครบถึงยุคที่ 9 แล้วก็จะตั้งต้นเริ่มนับยุคที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
ระยะเวลาของยุคทั้ง 9 อาคารมีดังนี้
– ยุคที่ 1 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ทัมลั้ง” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2407-2426 ในยุคนี้เป็นช่วงที่ทิศเหนือมีความเจริญ จัดอยู่ในธาตุน้ำ
– ยุคที่ 2 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “กือมึ้ง” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2427-2446 ตรงกับทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่ส่งผลดี ยุคนี้จัดอยู่ในธาตุดิน
– ยุคที่ 3 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “ลกซุ้ง” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447-2466 ยุคนี้ทิศตะวันออกจะเป็นทิศที่ส่งผลดี จัดอยู่ในธาตุไม้
– ยุคที่ 4 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “บุ่งเข็ก” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467-2486 ในยุคนี้จะส่งผลดีต่อทิศตะวันออกเฉียงใต้ จัดอยู่ในธาตุไม้
– ยุค ที่ 5 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “เนี่ยมเจ็ง” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487-2506 ช่วง 10 ปีแรก เจริญรุ่งเรืองในทิศตะวันออกเฉียงใต้ และส่งผลดีในทิศตะวันตกเฉียงเหนือในช่วง 10 ปีหลัง ยุคนี้จัดอยู่ในธาตุดิน
– ยุคที่ 6 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “บู๊เข็ก” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507-2526 ทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นทิศที่ดี ยุคนี้จัดอยู่ในธาตุทอง
– ยุคที่ 7 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “พั้วคุง” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2546 ทิศที่ดีจะอยู่ในทิศตะวันตก จัดอยู่ในธาตุทอง
– ยุคที่ 8 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “จ้อหู” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2566 ยุคนี้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นยุคที่มีความเจริญ จัดอยู่ในธาตุดิน
– ยุคที่ 9 ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “อิ้วเพียก” เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567-2586 ตรงกับทิศใต้ซึ่งเป็นทิศที่ส่งผลดี ยุคนี้จัดอยู่ในธาตุไฟ
เมื่อครบถึงยุค 9 แล้วก็จะวกกลับมาเริ่มที่ยุค 1 ใหม่อีกครั้ง หมุนเวียนไปเช่นนี้ตลอดเวลา